ปลาหมอชุมพร

ปลาหมอ เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านที่ชาวไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังค มและทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีความทนทานสูง เพราะมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ จึงสามารถอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีน้ำน้อย หรือพื้นที่ชุ่มชื้นเป็นเวลานานๆ จึงง่ายต่อการขนส่งในระยะไกลๆ และจำหน่ายในรูปปลาสดมีชีวิตได้ ทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศ

ในอดีตที่ผ่านมา ผลผลิตปลาหมอจัดอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลผลิตสัตว์น้ำจืดของประเทศ ซึ่งผลผลิตปลาหมอรองลงมาจากปลาช่อน ปลาดุก และปลาสวาย แต่ปัจจุบันผลผลิตปลาหมอเริ่มลดลง จากข้อมูลของกรมประมงเมื่อปี 2551 มีผลผลิตปลาหมอทั้งประเทศเพียง 12,900 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 535.6 ล้านบาท โดยบริโภคในรูปปลาสด 69.92 เปอร์เซ็นต์ ปลาร้า 22.86 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 7.22 เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง รมควัน และอื่นๆ ที่สำคัญคือ ปลาหมอในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าในอดีตมาก

ปัจจุบันมีผู้สนใจเลี้ยงปลาหมอกันเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถเลี้ยงและเจริญเติบโตในอัตราความหนาแน่นสูง ทนทานต่อสภาวะที่คุณสมบัติของดินและน้ำที่แปรปรวน ซึ่งนิยมเลี้ยงในรูปแบบต่างๆ ทั้งบ่อดิน บ่อคอนกรีต กระชัง หรือตามร่องสวน ทั้งเลี้ยงชนิดเดียวและเลี้ยงผสมกับปลาชนิดอื่น

ในภาคใต้นิยมเลี้ยงปลาหมอกันมากในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และตรัง แต่จากการสำรวจพบว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตปลาหมอลดลงเกิดจากการขาดแหล่งพันธุ์ที่มีคุณภาพ การใช้ปลาขนาดเล็กเป็นพ่อแม่พันธุ์ สามารถจัดหาง่าย ราคาถูก และผลิตลูกพันธุ์ปลาได้เป็นจำนวนมาก





Visitors: 285,631