อึ้งเพ้า อึ่งปากขวด

อึ่งปากขวด หรือ อึ่งเพ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Glyphoglossus molossus) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง จำพวกอึ่งอ่าง จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Glyphoglossus

มีความยาวจากหัวจรดถึงก้นประมาณ 73 มิลลิเมตร ลำตัวอ้วนป้อม มีลักษณะเด่นคือ หน้าสั้นมาก ปากแคบและทู่ไม่มีฟัน ไม่เหมือนกับกบหรืออึ่งอ่างชนิดอื่น ๆ ตาเล็ก ขาสั้น แผ่นเยื่อแก้วหูเห็นไม่ชัด ลำตัวสีน้ำตาลดำหรือสีเทาดำ ใต้ท้องสีขาว บางตัวอาจมีจุดกระสีเหลืองกระจายอยู่ทั่ว เท้าทั้ง 4 ข้างมีพังผืดเกาะติดอยู่ ใช้สำหรับว่ายน้ำ และมีสันใต้ฝ่าเท้าหลังใช้สำหรับขุดดิน

อึ่งปากขวดพบในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยจะพบเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยมีพฤติกรรมอาศัยโดยขุดโพรงดินที่เป็นดินปนทรายและอาศัยอยู่ภายใน ในป่าที่มีความชุ่มชื้นใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ในฤดูร้อนจะซ่อนตัวในโพรงแทบตลอด เมื่อฝนตกจะออกมาหากิน โดยหากินในเวลากลางคืน ผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน และจะผสมพันธุ์วางไข่เร็วกว่าอึ่งอ่างหรือกบชนิดอื่น ลูกอ๊อดมีลำตัวป้อมและโปร่งแสง ลำตัวเป็นสีเหลือง มีส่วนบนและส่วนล่างเป็นสีดำ หากินอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยจะว่ายทำมุมประมาณ 45 องศา อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ไปไหนมาไหนพร้อมกันเป็นฝูง

อึ่งปากขวดไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะถูกจับมาบริโภค โดยเฉพาะอย่างมากในช่วงฤดูฝนที่จะสร้างรายได้แก่ผู้ที่จับมาได้วันละหลายหมื่นบาท (แต่มักจะเรียกปนกันว่า "อึ่งอ่าง" หรืออึ่งยาง ซึ่งเป็นอึ่งคนละชนิด) กอปรกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันกรมประมงได้สนับสนุนให้เลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

Visitors: 282,168